วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การขับรถในมาเลเซีย

ในการท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ได้อรรถรส รวมถึงการสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม การขับรถเที่ยวนั้นคือคำตอบครับ มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านเราที่มีการคมนาคมทางบกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แต่ก็แลกกับการจ่ายเงินค่าทางด่วนนะครับ 

การเดินทางเข้ามาเที่ยวมาเลเซียที่ดี และสะดวกที่สุดคือ ทางหลวง E1 หรือ North Highway ซึ่งเข้าทางด่านสะเดา (ด่านนอก) ส่วนด่านทางมาเลเซียคือ Pukit Kayu Hitam เส้นทางนี้เป็นเสมือนเส้นเลือดหลักของมาเลเซียเนื่องจากจะยาวจากชายแดนด่านไทยไปจนถึงชายแดนด่านประเทศสิงคโปร์เลยทีเดียว

การขับรถในประเทศมาเลเซียนั้นไม่ยากเลยครับ หลังจากทำพิธีการต่างๆเกี่ยวกับนำรถเข้ามา และประกันภัยแล้ว ผมว่าน่าจะมารับทราบเกี่ยวกับกฎ ระเบียบการขับรถในประเทศนี้กันบ้าง 

การขับขี่รถไม่ต่างจากเมืองไทยมากมายนัก คือขับทางขวาเหมือนกัน แต่ตำรวจจะเข้มงวดเรื่องกฎ ระเบียบมาก และผู้ขับรถส่วนมากจะทำตามกฏ และมีมารยาท

1. ทุกคนในรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย แม้นจะนั่งในแถวหลัง  และไม่สามารถบรรทุกคนเกินกว่าจำนวนเข็มขัดนิรภัยที่มีในรถนะครับ ถ้าไม่คาดเข็มขัด ถ้าตำรวจจับจะโดนปรับ RM100-300

2. เรื่องความเร็ว สำคัญนะครับเนื่องจากตำรวจจะเคร่งมากครับ จะมีกล้องทั้งแบบติดถาวร และใช้กล้องอินฟาเรดเช็คสม่ำเสมอ เราต้องคอยสักเกตตามป้ายที่จะแจ้งผู้ขับขี่เป็นระยะๆ โดยสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้

-บนทางด่วนไม่เกิน 110km/h แต่ทางด่วนบางช่วงก็กำหนดไว้แค่ 90km/h เช่นช่วงทางแยกข้ามสะพานปีนัง ที่ Butterworth คนส่วนมากมักจะไม่รู้ แล้วเป็นแหล่งหารายได้ของตำรวจ สังเกตป้ายกำหนดความเร็วข้างทางให้ดีครับ

-ห้ามจอดรถบนทางด่วนไม่ว่ากรณีใดๆ ยกเว้นรถเสียนะครับ ถ้าฝ่าฝืนจะโดนปรับไม่เกิน RM300 จริงๆเค้ามีป้ายสีเหลืองเตือนข้างทางครับ แต่ดันเป็นภาษามลายู อ่านไม่ออกครับ ทุกช่วง 30km จะมีจุดพักรถเป็นช่วงๆ ครับถ้าจะจอดโทรศัพท์ เข้าห้องน้ำ นอนพัก ก็ทำได้นะครับ ไม่เสียเงิน
-ถนนทั่วไประหว่างเมืองไม่เกิน 90km/h 
-ถนนในเขตชุมชนไม่เกิน 60km/h
-หน้าโรงเรียนไม่เกิน 30km/h

สำหรับเรื่องกล้องจับความเร็วนั้น หน้าตาก็จะคล้ายๆกับบ้านเราที่เป็นกล่องสีน้ำตาลติดไว้สูงๆ เหมือนตามสี่แยกบ้านเรา แต่กล้องดังกล่าวจะติดไว้ตามข้างถนน อาจจะสังเกตได้จากรถข้างๆ ถ้าเค้ามีการลดความเร็ว และขับตามๆกันเป็นแถว ให้พึงระวังเลยว่าอาจจะมีกล้องจับความเร็วแถวๆนั้น

สำหรับกล้องจัดความเร็วแบบปืนยิง หรือ อินฟาเรดนั้นส่วนมากทางตำรวจจะใช้จับความเร็วบนทางด่วนระหว่างเมืองเสียมากกว่า โดนตำรวจจะไปซุ่มอยุ่ตามเกาะกลางถนน พวกเกาะกลางที่มีพุ่มไม้หนาๆ หรือใต้สะพานถนนข้างทางด่วน เวลาขับบนทางด่วนให้สังเกต ก่อนผ่านสะพาน แต่่ส่วนมากแล้วถ้าวันไหน ฟ้าครึมฝน มันไม่ค่อยเจอตำรวจมาซุ่มจับความเร็วเท่าไรนัก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะขยันมากช่วงเทศกาล เช่นช่วงตรุษจีน ดังนั้นช่วงเทศกาลขับระวังๆหน่อย ถ้าโดนจับเรื่องความเร็วก็ประมาณ RM300 สำหรับค่าปรับ

3. มารยาทการหลบให้รถข้างหลังที่มาเร็วไปก่อน จริงๆแล้วข้อนี้เป็นมารยาททั่วไป เหมือนกันทั่วโลก ถ้าคุณอยู่ในเลนขวาสุด แล้วมีรถหลังเข้ามาจี้ท้าย คุณต้องมีมารยาทหลบให้เค้าไปก่อน แต่เมืองไทยมักไม่เป็นเช่นนั้น แม้นจะกดแตร่ขนาดไหนก็ตาม ที่มาเลย์เค้าจะไม่กดแตร่ไล่คุณ แต่เค้าจะขับจี้ตามคุณไปเรื่อยๆ ถ้าคุณไม่หลบให้ เค้าถือว่าคุณไม่มีมารยาทในการใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้นเวลาขับรถโดยเฉพาะบนทางด่วนกรุณามองกระจกหลังสม่ำเสมอว่ามีรถไหนจี้ท้ายรถคุณอยุ่ไหม ถ้ามีกรุณาหลบให้เค้าไปก่อน หรือ ขับทางเลนซ้ายเมื่อคุณขับช้า

4. การกดแตร่ ถือว่าเป็นการเสียมารยาทอย่างแรงมาก ในประเทศนี้ หรือสิงคโปร์ ดังนั้นไม่ควรกดแตร่บ่อยถ้าไม่จำเป็น 

5. ห้ามใช้โทรศัพท์ขนาดขับรถนะครับ  โดยตำรวจจะคอยดักดูเป็นระยะ โดยเฉพาะแถว butterworth เมื่อคนขับโทรศัพท์ตำรวจจะขี่มอไซค์ตามแล้วเรียกให้จอด ค่าปรับ RM300 นะครับ ไม่เหมือนบ้านเราที่มีกฏหมายแต่ไม่ค่อยจับปรับเท่าไร

6. การจอดรถซ้อนคัน ตามตึกจอดรถ หรือห้างสรรพสินค้า ไม่นิยมที่จะจอดรถซ้อนคันปิดท้ายเหมือนในเมืองไทย เค้าจะจอดรถในช่องที่ทางตึกได้กำหนดไว้ กรุณาดูรถข้างๆด้วยแล้วกันครับ

7. การใส่เบรคมือ หรือเข้าเกียร์ P เมื่อจอดรถ ถือเป็นเรื่องปกติในประเทศนี้ 

8. การจ่ายค่าจอดรถ ถ้าจอดรถตามตึก หรือห้าง ในมาเลย์จะไม่มีพนักงานเก็บเงินที่ประตูทางออกลานจอดรถ เค้าจะให้ผุ้ใช้รถจ่ายเงินชำระค่าจอดรถกับตู้เก็บเงินอัตโนมัติ กรุณาศึกษาวิธีการจ่ายเงินในที่นั้นๆ หลังจากชำระค่าจอดรถแล้ว คุณมีเวลา 15 นาทีในการนำรถออกจากลานจอดรถนะครับ ถ้าเกินจะออกไม่ได้ ไม้กั้นจะไม่เปิดตอนเสียบบัตร คุณต้องเสียเวลาไปจ่ายค่าจอดใหม่ แต่ชาวบ้านจะด่าคุณเป็นแน่ ดังนั้นควรจ่ายแล้วรีบออก  



9. สำหรับคนที่จะขับในเมืองใหญ่ เช่น กัวลาลัมเปอร์ ท่านควรจะศึกษาเส้นทางให้แน่ชัดก่อนนะครับ เนื่องจากว่าเมืองนี้ มีการใช้ One way หรือ ทางด่วนกันเยอะ เมื่อขับหลง หรือ เลยทางไปแล้ว คุณจะต้องเสียเวลาอย่างมากในการกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง  

10. ถ้าโดนตำรวจเรียก กรุณาเตรียมเอกสารต่างๆให้พร้อมเพื่อแสดงแก่เจ้าหน้าที่ เช่นใบขับขี่ ทะเบียนรถ และป้ายวงกลมที่ได้จากขนส่ง เป็นต้น อย่าพูดภาษามาเลย์ หรือภาษาอังกฤษกับเจ้าหน้าที่เด็ดขาด ไม่ต้องมาโชว์ความเก่งในตอนนี้ ถ้าท่านพูดกับเจ้าหน้าที่ จะโดนหลากหลายข้อหาทันที ดังนั้นพยายามพูดไทยกับเจ้าหน้าที่ แกล้งทำเป็นสืื่อสารกันไม่รู้เรื่อง ตำรวจจะกวนท่านไม่นานก็จะปล่อยถ้าท่านไม่ได้ทำผิดรุนแรง เช่นใช้ความเร็วเกินกำหนด เป็นต้น

11. หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ แม้นว่าท่านจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด หรือจะโดนกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมถนน เพราะจะนำมาซึ่งความวุ่นวายกับท่านอย่างมากจนทำให้การท่องเที่ยวของท่านหมดสนุกไปเลย (อ่านวิธีปฏิบัติหลังจากเกิดอุบัติเหตุรถชนได้ในบทความถัดไป)

หมายเหตุ: ข้อมูลต่างๆ เขียนจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ถ้าใครมีประสบการณ์อื่นใด ร่วมแบ่งปันกันได้นะครับหรือใครเคยเจอตำรวจจับในรูปแบบใดๆ มาแชร์กันได้นะครับ จะได้เป็นประโยชน์แกเพื่อนๆ ที่อยากไปเที่ยว

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

อยากจะขับรถเข้าไปเที่ยวมาเลเซียต้องทำอย่างไร

สำหรับนักท่องเที่ยวบางท่านที่อยากจะขับรถเข้าไปเที่ยวประเทสมาเลเซียนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลยครับ ถ้าท่านรู้ขั้นตอนการปฏิบัติ และจะได้ไม่โดนคนแถวด่านหลอกกินเงินฟรี หรือตำรวจทางหลวงมาเลย์หากิน รีดไถ่ได้ มีดังนี้ครับ

1. รถต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้ ไม่ควรเก่าเกินกว่า 10 ปี เพราะอาจจะเสียระหว่างทางในการท่องเที่ยว ค่าซ่อมรถที่โน้นค่าแพงนะครับ ค่าแรงชาร์จเยอะ

2. รถมีติดฟิล์มที่กระจกต้องไม่เกินกว่า 40% (แสงผ่านได้มากกว่า 60%) กระจกหน้าติดฟิล์มไม่เกิน 25% ของพื้นที่กระจก ตามกฏหมาย ซึ่งน่าจะเหมือนกับบ้านเรานะครับ

3. ถ้าเป็นไปได้เจ้าของรถควรจะเป็นผู้ขับขี่โดยตรง หรือเดินทางไปด้วย เพราะเอกสารจะไม่ยุ่งยาก

4. มีใบขับขี่ประเทศไทย รุ่นบัตรแข็ง (รุ่นใหม่) เพราะมีภาษาอังกฤษ และไม่หมดอายุ สำหรับท่านที่ยังใช้รุ่นกระดาษเคลือบพลาสติก น่าจะเป็นพวกอายุ 35+ปี ก็ไปเปลี่ยนเถอะครับจะได้ไม่ยุ่งยาก ที่จะต้องไปแปลเอกสารก่อน แต่ถ้าพวกที่ยังใช้บัตรกระดาษแข็ง ก็แค่เอาใบขับขี่ไปแปลที่ขนส่งในจังหวัดของท่านครับ จริงๆไปแปลที่ร้านไหนก็ได้ที่เค้ารับแปล แต่บางทีทางมาเลเซียเข้มงวดให้ต้องเป็นเอกสารแปลจากทางราชการเท่านั้นครับ

5. คู่มือประจำรถตัวจริง พร้อมใบแปลเอกสารจากกรมการขนส่งทางบก เมื่อก่อนอนุญาติให้แปลที่ไหนก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องที่ขนส่งเท่านั้นนะครับ

6. ติดสติกเกอร์ป้ายทะเบียนรถใหม่ 2 แผ่น เพราะทะเบียนรถไทยมีตัวนำหน้าเป็นภาษาไทย ตำรวจมาเลย์อ่านไม่ออกครับ ก็เลยต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ดูการแปลได้จากใบแปลเอกสารจากขนส่งทางบกเท่านั้นนะครับ อย่าไปมั่วแปลเอาเอง เช่น "ชค 8000" เป็น "GC 8000" ไม่ใ่ช่ไปมั่ว เป็น "CK8000" ขนาดตัวอักษร 2" ที่เขียนมารู้สึกจะยุ่งยากไหมครับ  ผู้เขียนแนะนำขับรถไปแถวๆด่าน จะมีบริการร้านรับตัดสติกเกอร์เต็มไปหมดครับ ร้านเค้าจะรู้ขนาด สี ไซท์ แค่จ่าย 200 บาท กับอีก 15 นาทีก็เสร็จแล้วครับ

หลังจากเอกสารพร้อม รถพร้อม คนพร้อม ก็นำรถไปที่ด่านชายแดนไทย นำเอกสารหนังสือคู่มือรถ+ใบแปลเอกสาร+ใบขับขี่ตัวจริง+หนังสือเดินทางคนขับรถ ไปยื่นที่ตู้ศุลกาการเพื่อทำเอกสารนำรถออกนอกราชอาณาจักรไทย โดยปกติแล้วหนังสือจะมีอายุ 1 เดือนครับ

เมื่อเอกสารพร้อม ก็เดินทางข้ามแดนกันเลยครับ พอถึงด่านมาเลเซีย Pukit Kayu Hitam (ยกตัวอย่างดานสะเดา)จะมีป้อมคล้ายป้อมเก็บเงินทางด่วน ป้อมนั้นจะเป็นที่ประทับตราหนังสือเดินทางของบุคคลในรถเก๋ง รถกระบะ หลังจากผ่านไป 5 เมตรก็ต้องชำระค่าทางด่วนทันทีครับ รู้สึกว่าตอนนี้จะประมาณ RM3.20 สำหรับรถเก๋ง เตรียมเงินไว้เลยนะครับ

หลังจากนั้นขับออกไปอีก 10 เมตรก็จะเจอตำรวจขอสุ่มตรวจสัมภาระ ตอนนี้ให้ลดกระจกรถทั้งหมดลงเพื่อให้ตำรวจดูภายในรถ ด่านนี้ไม่ค่อยเรื่องมากอะไร หลังจากนั้นอีก 10 เมตรก็จะเป็นด่านของศุลกากรมาเลเซีย เพื่อตรวจดูสัมภาระต่างๆ ที่ต้องเสียภาษี หรือของผิดกฏหมายต่างๆ ถ้าท่านใดนำเหล้า เบียร์ บุหรี่เข้ามา และศุลกากรถามว่าอยู่ในมาเลเซียกี่วัน ให้ตอบว่า "ท่องเที่ยวประมาณ 3-5 วัน" เพราะศุลกาการจะไม่อนุญาตให้นำเข้าของดังกล่าวถ้าท่านอยุ่ในประเทศไม่เกิน 3 คืน

หลังจากผ่านด่านต่างๆแล้ว ขับรถออกไปอีก 100 เมตรจะพบตึกแถวชั้นเดียว และบ้าน 1 หลังทางขวามือ นั้นคือ กรมขนส่งทางบกมาเลเซีย หรือ JPJ ก่อนที่จะนำรถเข้ามาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฏหมายประเทศนี้ ท่านจะต้องซื้อประกันชั้น 3 และลงทะเบียนที่ JPJ เพื่อให้ได้ป้ายกระดาษติดหน้ารถ สำหรับการตรวจสอบจากตำรวจทางหลวง เอกสารในการยื่นขอป้าย  ดังนี้
1.คู่มือรถฉบับแปล
2.ใบขับขี่ตัวจริง
3.ประกันชั้น 3(หาซื้อได้จากร้านค้าข้างๆ JPJ)
4.แบบฟอร์มที่กรอกพร้อมรายละเอียด

ผู้เขียนขอแนะนำให้เดินเข้าไปที่ร้านขายประกันภัย พร้อมซื้อประักันภัย แล้วให้ทางร้านเดินเอกสารเพื่อขอป้ายติดหน้ารถให้ อาจจะมีค่าบริการเพิ่มเติม อีกประมาณ RM50.00 ก็จ่ายไปเถอะไม่งั้นอาจจะยุ่งยาก เพราะทาง JPJ จะตรวจสภาพรถ ฟิล์ม ยิ่งถ้ารถอายุมากกว่า 10ปีจะผ่านการตรวจยาก

รถอายุมากกว่า 10 ปีจะเสียค่าประกันภัยชั้น 3 แพงกว่ารถใหม่

หลังจากปี 2013 ตำรวจทางหลวงเริ่มตรวจเข้มสำหรับรถต่างชาติที่เข้ามาในประเทศมาเลเซีย ดังนั้นควรยื่นขอป้ายจากกรมขนส่ง JPJ เวลาตำรวจเรียกตรวจก็แค่ยื่น เอกสารรถ เอกสารประกันภัย ป้ายวงกลม แค่นั้น ถ้าท่านไม่ทำผิดอะไรร้ายแรงก็คงไม่มีปัญหาครับ

กฏ กติกา มารยาท การรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร food court ในมาเลเซีย

หลายคนคง งง ว่าทำไมต้องมีกฏ กติกา มารยาทในการปฏิบัติตัวในการกินอาหาร Food Court เนื่องจากคนประเทศมาเลเซียมีลักษณะการรับประทานอาหารที่แตกต่างจากคนไทย โดยส่วนมาก 90% ทั้งคนจีน คนอินเดีย หรือมาเลย์มักจะรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลักทั้งเช้า กลางวัน บ่าย เย็น ดึก ดังนั้นธรรมเนียมในการกินก็ต่างไปจากบ้านเราเหมือนกัน 

1. ต้องจ่ายเงินเมื่ออาหารเสริ์ฟถึงโต๊ะ พูดง่ายๆจ่ายก่อนกิน โดยมากมักจะเป็นร้านของคนจีน แต่ถ้าเป็นร้านอาหารคนอินเดีย หรือคนมาเลย์กินก่อนจ่ายก็ได้

2. โดยปกติแล้วคนมาเลเซียมักจะจ่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มของตัวเอง แม้นว่าจะรับประทานร่วมโต๊ะกันเรา (ยกเว้น เราเลี้ยงเค้า หรือ เค้าเลี้ยงเรา) ไม่ค่อยใช้ธรรมเนียมหารเท่ากันอย่างที่คนไทยทำๆกัน

3. ร้านอาหารไม่มีบริการกระดาษทิชชูฟรี ดังนั้นอย่าลืมพกไปเอง หรือถ้าจะเอาสะดวกเค้ามีจำหน่าย ห่อละ RM0.20-0.50 ไม่ว่าจะไปกินอาหารที่ร้านอาหารไหน เมืองไหน ก็จะไม่มีทิชชูให้ ยกเว้นเป็นภัตตราคารใหญ่ๆ เป็นที่รู้กันของคนที่นั้น แต่เดี๋ยวนี้บ้านเราในบางร้านก็เริ่มจะไม่มีบริการทิชชูแล้วเหมือนกัน

4. ถ้าไปรับประทานอาหารเช้า เที่ยง ที่ food court อย่านั่งแช่นาน รีบทาน รีบไป เพราะโต๊ะมีจำกัด เค้าต้องการให้ลูกค้าใหม่มาทานบ้าง อย่าทำนิสัยสั่งกาแฟ 1 แก้วเล่นนั่งแช่สัก 1ชม. ถ้าสังเกตพนักงานจะรีบมาเก็บจาน ชาม เมื่อเรารับประทานเสร็จทันที

5. ถ้าร้านค่อนข้างแน่น แล้วโต๊ะเรามีที่เหลือ ลูกค้าใหม่ที่เข้ามามีสิทธินั่งได้ อย่าไปรังเกียจเค้า หรือหาว่าเค้าเสียมารยาท

6. โดยส่วนมากแล้วเจ้าของร้าน food court จะเป็นคนขายน้ำดื่ม ทิชชู บุหรี่เองดังนั้น รายได้หลักของเค้าคือการขายเครื่องดื่ม ดังนั้นเค้าจะไม่อนุญาติให้เราน้ำเครื่องดื่มจากภายนอกมาดื่ม และเป็นมารยาทที่จะต้องสั่งเครื่องดื่มเมื่อเข้ามาใช้บริการในร้านนี้

7. ถ้าเป็นร้านอินเดีย จะมีเคาท์เตอร์อาหารให้ตักเอง ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะทานอาหารอะไร และปริมาณมากน้อยเท่าที่ต้องการ แต่อย่าเหลือทิ้ง โดยทางร้านจะคิดเป็นอย่างๆ ไป เช่น ข้าวสวยราดแกงไก่+เนื้อทอด เค้าจะคิดค่าข้าวสวย RM1.5 แกงไก่ RM2.0 เนื้อทอด RM2.5 รวมกันเป็น RM6.00 เป็นต้น



วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

อาหารที่ต้องลองเมื่อเยือนมาเลเซีย

เมื่อพูดถึงอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ และต้องกินให้ได้เมื่อมาประเทศนี้ หลายคนคงนึกถึง Nasi lemak และ ชาชัก แต่อย่าลืมไปว่าประเทศนี้จริงๆ ไม่ใช่ประเทศแขก หรือประเทศอิสลาม ที่มีแต่อาหารแขกเท่านั้น ประชากรที่นี้มีทั้ง คนมาเลย์ คนจีน คนอินเดีย จึงทำให้มีร้านอาหารหลากหลายแบบให้เลือกรับประทานทั้งร้านอาหารจีน ร้านอาหารอินเดีย และร้านอาหารมาเลย์ ดังนั้นผู้เขียนอยากจะแนะนำอาหารที่ต้ิองลองเมื่อมาถึง....จะได้ไม่อายเพื่อนเมื่อมาเยือนประเทศนี้

1.Nasi lemak (อาหารมาเลย์) คือ ข้าวหน้าน้ำพริก+ปลาแห้ง+ไข่ต้ม+ถั่วลิสง มักจะห่อใบตอง เป้นทรงปิรามิด เป็นอาหารด่วนของคนมาเลย์ มักจะกินกันตอนเช้า หรือ ยามว่าง....รสชาติใช้ได้ ออกหวานนิดๆ เผ็ดเล็กน้อย เหมือนข้าวคลุกน้ำพริกปลาย่างบ้านเรา ราคาประมาณ RM0.80-2.00


2.Curry Mie (อาหารจีน) คนจีนที่นี้มักจะกินกันเส้นบะหมี่ ก๋วยเตี๋ยวกันในยามเช้า อาหารจานนี้ถือว่าเป็นอาหารหลักยามเช้าของคนจีน มีทั้งแบบแห้ง (คลุกคลิก) และแบบน้ำข้น เป็นอาหารที่ผู้เขียนชอบมาก และกินทุกครั้งที่มาเยือน....Curry Mie จริงๆก็คือ บะหมี่ หรือ ก๋วยเตี๋ยว+น้ำซุปเครื่องแกงกะทิ หน้าตาดูเผ็ดร้อน สีแดง แต่รสชาติไม่ได้เผ็ดมาก เพราะใช้ผงกะหรี่ของจีนผสมกับกะทิ ส่วนมากแล้วมักมาเสริ์ฟกับไก่ต้มสับ ลูกชิ้นปลา เกี้ยวทอด บางที่จะมีหอยแครงลวกโรยไว้ข้างบนด้วย หากินได้ทุกเมืองที่มีคนจีนขาย ราคาประมาณ RM3.5-5.5


3.Fried Keow teaw (อาหารจีน) ผัดก๋วยเตี๋ยว หรือ ผัดซี้อิ้วบ้านเรา แต่จานนี้มีชื่อมาก และต้องลองถ้ามาเยือนเมืองปีนัง อาหารจานนี้มักใช้เส้นระหว่าง เส้นเล็ก กับ เส้นใหญ่บ้านเรา จะเรียกว่าเส้นเล็กแต่จะนุ่มเหมือนเส้นใหญ่ ทำการผัดกับซอสซีอิ้วดำ ใส่กุ้ง หอยแครงเป็นหลัก บางที่จะมีการใส่ซอสพริกไปด้วยทำให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น เวลาเสริ์ฟจะวางบนใบตอง ทำให้มีกลิ่นหอม บางคนไม่ค่อยชอบเพราะผัดออกมาจะออกดำๆ ไม่น่ากิน แต่คนที่นี้ชอบให้มีกลิ่นไหม้นิดๆ สังเกตได้ว่า เวลาผัดคนผัดจะใช้ไฟแรงๆ ผัดเร็วๆ ราคาประมาณ RM3.5-6.00

4. ชาชัก (Teh Tarik) หรือชาใส่นม คล้ายๆกับชาชักทางใต้บ้านเรา แต่รสชาติจะไม่หวานมาก มีฟองบนชาที่เกิดจากการเทไปเทมา หรือเรียกว่า "Tarik" เป็นเครื่องดื่มของชาวมาเลเซียทั้งเช้า กลางวัน บ่าย เย็น ค่ำ ส่วนมากมักจะทานคู่กับขนมหวาน เค้ก ทาร์กไข่ โดยสามารถเลือกดื่มได้จากทั้งร้านคนอินเดีย และร้านคนมาเลย์ แต่ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเลือกดื่มที่ร้านคนอินเดียรสชาติจะเข้มข้นกว่า ราคาโดยประมาณ RM1.00 - 1.60

5.ข้าวแกงกะหรี่อินเดีย ไม่ต้องไปไกลถึงอินเดียก็หาทานอาหารอินเดียได้ง่ายที่ประเทศนี้ ร้านอาหารอินเดียมักจะบริการตลอด 24 ชั่วโมง คนท้องถิ่นมักเรียกร้านอาหารอินเดียว่า "Mama" ไม่ได้ออกเสียงว่า "มาม่า" แต่เรียกว่า "มามะ" โดยทั้วไปร้านนี้จะบริการข้าวราดแกงหลากหลายแกงกะหรี่มีทั้งแกงกะหรี่แดงเผ็ดร้อนจากเครื่องเทศนานาชนิด หรือแกงกะหรี่หวาน แต่ที่น่าสนใจที่อยากให้ลองคือ แกงกะหรี่ขาว หรือเรียกว่า Kuma รสชาติ และกลิ่นจะคล้ายๆ "ต้มข่าไก่" บ้านเรา...ร้านอาหารอินเดียส่วนมากแล้วจะเป็นแบบให้บริการตนเอง คือตักข้าวเอง ตัดอาหารราดบนจานเอง อยากกินมากน้อยแล้วแต่เราเอง เค้าจะคิดราคาอาหารเมื่อเราไปนั่งที่โต๊ะ โดยจะเขียนใส่กระดาษเล็กๆวางบนโต๊ะให้เราไปจ่ายเมื่อกินเสร็จ ราคาประมาณ RM5.50-6.50
6. Egg Tart เนื่องจากประเทศได้รับอิทธิพลจากประเทศฝั่งตะวันตก ทำใ้ห้ได้รับวัฒนธรรมการกินมาบ้าง โดย Egg Tart ก็ได้รับการถ่ายทอด และปรับปรุงจากคนจีนทำให้มีรสชาติที่อร่อย หอม กรอบ แต่อาจจะไม่ถูกปากคนไทยสักเท่าไรเนื่องจากว่าไม่หวานเท่า egg tart ของคนไทยทำ อย่างไรแล้วก็ลองพิจารณากินดูเป็นอาหารว่างยามบ่ายที่ดีคู่กับ teh tarik หรือ กาแฟเย็นสักแก้ว ราคาโดยประมาณ RM1.50-2.20